เมื่อกว่า 70 ปีก่อน สมัยโต๊ะกีโต๊ะวัง ยังมีชีวิตอยู่นั้น ที่หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งริมคลองเจ้าคุณสิงห์ อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร(กทม.) มีตระกูลเล็กๆ กันอยู่สองตระกูลคือ ตระกูลสันเต๊ะ กับ ตระกูลสันประเสริฐ บ้านเรือนบริเวณต้นคลองเจ้าคุณสิงห์ ที่เรียกกันว่า บ้านบนดอน(สะแก)นั้น สภาพของสังคม ที่อาศัยอยู่ยังไม่มีมัสยิด
ในสมัยนั้นชาวบ้าน มีอาชีพทำนา เป็นส่วนใหญ่ เวลาจะละหมาด ญะมาอะฮฺ พี่น้องมุสลิม ก็ต้องเดินเท้าผ่านทุ่งนา(เฉพาะหน้าแล้ง) ไปร่วมกันละหมาดยุมมฺอะฮฺ วันศุกร์ หรืออาจต้องพายเรือ(ถ้าเป็นฤดูน้ำหลาก)ไปที่มัสยิดยามีอุ้ลอิสลาม ที่ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ (ปัจจุบันอยู่ที่หน้ารามคำแหงซอย 53 ) ซึ่งในสมัยนั้น ถ้าเดินเท้าไป-กลับ ก็จะหมดเวลาไปวันหนึ่ง แต่ถ้าเป็นฤดูน้ำหลาก (ตั้งแต่ เดือน 10 จนถึงเดือนยี่) ก็จะกลับมาบ้าน ที่ดอนสะแกได้เร็วขึ้น
โต๊ะ เยื้อน สันเต๊ะ (ซึ่งเป็นโต๊ะย่าของผู้เล่าเรื่อง) ก็ได้คุยกับลูกๆหลานๆว่า โต๊ะ มีความประสงค์ จะยกที่ดินให้สร้างมัสยิดขึ้นที่ ดอนสะแก ประมาณ 2 ไร่เศษๆ บรรดาลูก-หลาน ก็บอกว่า ตอนนี้ยังไม่มีเงินที่จะทำการก่อสร้างมัสยิดเลย เพราะต่างก็เก็บหอมรอมริบ ไว้ได้ไม่มากนัก ซึ่งทุกคน ต่างก็คือ ชาวนา ที่จะต้องรอการขายข้าว ในปีนั้น (สมัยก่อนทำนาได้ปีละครั้ง เพราะเป็นพื้นที่บนดอน ไม่สามารถปลูกข้าวนาปรัง ในฤดูแล้งได้ ซึ่งถ้าทำนาปรังได้ก็จะมีเงินเหลือเก็บมากพอ) ในปีนั้นหลังจากที่ได้ทำนาเสร็จ ขายข้าวได้บรรดาลูก-หลาน โต๊ะเยื้อน ก็รวบรวมเงินเอามาสร้างมัสยิด ซึ่งเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว
ในปี พ.ศ.2495 ทางชุมชนเราก็ได้มีมัสยิด ฮิดาย่าตุ้ลอิสลาม เป็นที่ทำละหมาดญะมาอะฮฺ กันจนถึงปัจจุบัน ช่วงเวลาดังกล่าว สัปบุรุษของ มัสยิดฯ (สุเหร่าดอนสะแก) ยังมีจำนวนน้อย พี่น้องมุสลิม บริเวณซอยลาดพร้าว 112 เห็นว่ามีมัสยิดที่เดินใกล้กว่าไปมัสยิดฯที่อยู่ริมคลองแสนแสบ (มัสยิดยามีอุ้ลอิสลาม) จึงได้มาร่วมกันละหมาดที่ มัสยิดฯ (สุเหร่าดอนสะแก)แห่งนี้ แต่ปัจจุบันเมื่อความเจริญมากขึ้น การเดินมาละหมาดที่มัสยิดฯ(สุเหร่าดอนสะแก) จำเป็นต้องเดินอ้อม มาตามถนนใหญ่(ถนนลาดพร้าว) ทำให้ระยะทางไกลมากขึ้น (จากสมัยก่อน ที่สามารถเดินลัดทุ่งไป-มา กันได้สะดวก) ทำให้พี่น้องมุสลิมบริเวณซอยลาดพร้าว 112 ได้ห่างเหินกันไปละหมาด ที่ใกล้ๆบ้านและสะดวกกว่านั่นเอง ทำให้ปัจจุบันที่มัสยิดฮิดาย่าตุ้ลอิสลาม(สุเหร่าดอนสะแก) จึงเหลือเพียง ลูก-หลาน 2 ตระกูลใหญ่ และ สัปบุรุษ รุ่นใหม่ๆที่ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ร่วมกัน เกิดเป็นชุมชนมุสลิมที่ขยายตัวใหญ่ขึ้น
กลับมาสู่ช่วงอดีตอีกครั้ง เมื่อสมัยปี พ.ศ. 2495 ข่าวคราวการก่อสร้างมัสยิดฮีดาย่าตุ้ลอิสลาม (ดอนสะแก) ได้ถูกบอกกล่าวไปสู่พี่น้องมุสลิม ตามตำบลต่างๆทั้งใกล้ -ไกล พร้อมกับขณะนั้น มัสยิดบางอ้อ ซึ่งก็กำลังรื้ออาคารมัสยิดหลังเดิมออก เพื่อก่อสร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่ ทราบข่าวนี้ ก็ได้บริจาคไม้จากอาคารมัสยิดหลังเดิม มาให้ (สุเหร่าดอนสะแก ) คณะกรรมการมัสยิดฯจึงได้นำไม้เหล่านั้น มาสร้าง “บะแล” สอนกุรอาน และจริยธรรมทางศาสนากันต่อไป
จากการที่ชุมชนมุสลิมที่อยู่รอบๆมัสยิดฯ(ดอนสะแก) ขยายตัวใหญ่ขึ้น ในช่วงปี พ.ศ. 2506 คณะกรรมการมัสยิดฯ และสัปบุรุษฯ จึงมีมติให้สร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่ขึ้น เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น หลังจากนั้น จึงได้รื้อ อาคารมัสยิด(ที่เป็นไม้) หลังเดิมออกไป แต่ตัว “บะแล” ที่ใช้สอนกุรอาน ไม่ได้รื้อออกไป
เมื่อชุมชนฯสุเหร่าดอนสะแกขยายตัวขึ้น ลูกหลานก็มากขึ้นประมาณ ปีพ.ศ. 2510 สัปบุรุษมัสยิดฯ(ดอนสะแก) จึงได้ร่วมกันสร้างอาคารเรียนกุรอานขึ้นมาใหม่ เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้นซึ่งปัจจุบันใช้เป็นโรงเรียนสอน จริยธรรมให้กับเยาวชน ทุกๆวัน เว้นวันศุกร์ ขณะที่ทุกๆวันพฤหัสเว้นพฤหัส มีการเรียนการสอนให้กับ สัปบุรุษในชุมชนด้วย โดยมีการเชิญ คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ มาทำการสอนทั้งวิชา ตัฟซีรกุรอาน และอัลหะดีษ ให้กับผู้ใหญ่ และสัปบุรุษผู้สนใจ ได้ร่วมกันเรียนรู้วิชาการภาคศาสนบัญญัติร่วมกัน เพียงแต่คณะกรรมการมัสยิดฯ ยังคงใช้สถานที่ ชั้นล่างของอาคารมัสยิดฯ เป็นสถานที่เรียน แทนอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ซึ่งเห็นว่า เหมาะสมกว่าห้องเรียนของเยาวชน ที่ใช้งานอยู่ทุกๆวัน (เว้นวันศุกร์)
ขณะเดียวกันในปี พ.ศ. 2548 คณะกรรมการศึกษาของมัสยิดฯ(ดอนสะแก)เห็นว่า สถานที่เรียนกุรอาน ของเยาวชนดูจะคับแคบมากขึ้นกว่าเดิม เพราะจำนวนเยาวชนมีเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี จึงมีความเห็นว่า ควรจะ ขอให้โรงเรียนสุเหร่าดอนสะแก(ที่สอนภาคสามัญ สังกัด กรุงเทพมหานคร) ทำการคืนบางส่วนของที่ดินที่เป็นของมัสยิดฯ (ดอนสะแก)ที่ คณะกรรมการมัสยิดฯในรุ่น 40 กว่าปีก่อน ได้ทำสัญญาให้ กทม.ยืม ที่ดินบางส่วนของมัสยิดฯ (ปัจจุบันใช้เป็นสนามอเนกประสงค์ ของโรงเรียนสุเหร่าดอนสะแก ที่สอนวิชาภาค สามัญ) กลับมาให้กับมัสยิดฯเพื่อขยายอาคารเรียนภาคศาสนาและจริยธรรม ให้กับเยาวชนต่อไป ซึ่ง รายละเอียด และความคืบหน้า รวมถึง ประวัติบางส่วนของการให้ยืมที่ดินของ มัสยิดฯ จะได้นำเสนอต่อไปในโอกาสหน้า
ผู้ให้ข้อมูล.......ฮัจยี อารีฟีน สันเต๊ะ(อายุ 63 ปี เมื่อ พ.ศ. 2551) เป็นบุตรของ ฮัจยี เด๊ะ สันเต๊ะ(ซึ่งเป็นบุตรของโต๊ะเยื้อนที่บริจาคที่ดินให้สร้างมัสยิดฯ)
|