"สุเหร่าเก่ากองอาสาจาม" โดยกองอาสาจามสร้างขึ้น
ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ากันมาว่า พระยาราชบังสันแม้น เป็นชาวจามผู้ก่อสร้าง
ผู้ทำนุบำรุงต่อมาคือ พระยาราชบังสันฉิม ซึ่งเป็นบุตรพระยาราชบังสันแม้น และเป็น
ผู้ที่นำชาวมลายูปัตตานีมาพักที่บ้านครัวในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่อนจะนำไปตั้งถิ่นฐาน
ตามแนวฝั่งคลองแสนแสบ มีนบุรี หนองจอก พระยาราชบังสันฉิมเรียกสุเหร่านี้ว่า
"สุเหร่าคลองนางหงษ์" และต่อมาเรียกกันว่า "สุเหร่าเก่า"
ผู้ทำนุบำรุงต่อมาคือ พระยาราชบังสันบัว ซึ่งเป็นบุตรพระยาราชบังสันฉิม
เมื่อพระยาราชบังสันบัวได้ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2436 ต่อมาอีกประมาณ 61 ปีในช่วง
ปี พ.ศ. 2497-2498 สัปปุรุษได้รื้อถอนอาคารเดิมลงและก่อสร้างขึ้นใหม่ จากภาพถ่าย
อาคารเดิมก่อนรื้อถอน เห็นบานหน้าต่างเปิด/ปิดเข้าตัวอาคาร หลังคาทรงปั้นหยา
มุงด้วยกระเบื้องแผ่นเล็กๆที่ใช้กับศาสนสถานโบราณ ผนังอาคารก่อด้วยอิฐก้อนใหญ่
เอนสอบเข้าหากัน เหมือนกับผนังโบสถ์สมัยกรุงศรีอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี จึงเสร็จในปี พ.ศ.2500
อาคารมัสยิดส่วนหน้าหลังคามีโดมแปดเหลี่ยม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7
มิได้ถูกรื้อถอน อาคารส่วนนี้เหมือนพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ถนนราชดำเนิน (กรมโยธาธิการ) พื้นปูกระเบื้องไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อให้อนุชนรุ่นหลัง
ได้เห็นจนทุกวันนี้
มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ ได้จดทะเบียน พ.ร.บ. มัสยิดอิสลาม พ.ศ.2490
วันที่ 24 พฤษภาคม 2494 ทะเบียนเลขที่ 74 มีชื่อว่า มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ คำว่า
"ยามีอุลค็อยรียะห์" มีความหมายว่า "หอประชุมแห่งคุณธรรม" หรือ "มัสยิดแห่งคุณธรรม"
ถ้าจะเรียกสั้นๆ ก็ต้องเรียกว่า "มัสยิดยาเมียะอฺ"
มัสยิดตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดที่ 984 เลขที่ดิน 21 ระวางที่ดิน 1ต 1อ:4, 1ต 2อ:1
เนื้อที่ดิน 14 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา ตำบลประแจจีน จังหวัดพระนคร เป็นโฉนดของ
กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
|